fbpx

รูปแบบการท่องเที่ยวยอดนิยม แล้วการท่องเที่ยวแบบใหนที่คุณชอบ

รูปแบบการท่องเที่ยว

สารบัญเนื้อหา

ในปัจจุบันก็มีการจำแนกลักษณะรูปแบบของการท่องเที่ยวออกมาด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จำกำหนดเป้าหมายของกลุ่มนักท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน ว่าชอบเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบใหน ซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ แต่โดยหลักๆ ที่องค์การท่องเที่ยวโลก กำหนดรูปแบบไว้มีอยู่ 3 หลัก ซึ่งแต่ละรูปแบบก็แตกยิบย่อยลักษณะและรูปแบบลงไปอีก และสำหรับเพื่อนๆ เหล่าผู้รักการทัศนาจรที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองนั้นชอบหรือจัดอยู่ในการท่องเที่ยวแบบใหน ดังนั้น วันนี้ DASH MV ขอแนะนำรูปแบบการท่องเที่ยวมาให้อ่าน ดังนี้

แนะนำกิจกรรมเล่นแก้ง่วง ระหว่างเดินทางออกทริป

รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ

รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ecotourism) คือ การท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวของภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน และทั้งนี้ผู้ที่เดินทางมาเที่ยวนอกจากได้พักผ่อน แล้วยังได้รับความสาระความรู้ดีๆจากการท่องเที่ยวลักษณะนี้ด้วย ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เดินป่าศึกษาธรรมชาติอ่างกา ดอยอินทนนท์

เดินป่าศึกษาธรรมชาติอ่างกา ดอยอินทนนท์

เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติอ่างกา ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ อ่างกาเป็นแอ่งน้ำขนาดสิบกว่าไร่ อยู่บริเวณยอดดอยอินทนนท์ มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี โดยระบบนิเวศน์ของอ่างกาเป็นระบบนิเวศน์ที่ไม่เหมือนที่อื่น เนื่องจากอยู่บนที่สูงกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี มีหมอกปกคลุมตลอด อุณหภูมิเฉลี่ย 12 องศา มีความชื้นสูง พืชที่อยู่ในบริเวณนี้ก็จะมีแต่พืชที่หาชมได้ยาก เช่น ข้าวตอกฤาษี กุหลาบพันปี บนต้นไม้ใหญ่จะถูกปกคลุมไปด้วยมอส เฟิร์น จนแทบหาที่ว่างตามกิ่งไม้ไม่ได้ และยังมีนกป่า นกประจำถิ่นที่หาดูได้ยากด้วย

เดินป่าศึกษาธรรมชาติเขาใหญ่

ศึกษาธรรมชาติเขาใหญ่

เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเขาใหญ่ การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เป็นการนำเอาความรู้ต่างๆ ในเรื่องของธรรมชาติที่ได้ศึกษามา ให้ได้ไปพบเห็นของจริง อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการพบเห็นธรรมชาติต่างๆ โดยไม่มีการจัดเตรียมจะทำให้ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินและตื่นตาตื่นใจอยู่ตลอดเวลา อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จัดเตรียมไว้ ดังนี้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์บริการนักท่องเที่ยว – น้ำตกกองแก้ว, เส้นทางศึกษาธรรมชาติดงติ้ว – หนองผักชี, เส้นทางศึกษาธรรมชาติดงติ้ว – มอสิงโต, เส้นทางศึกษาธรรมชาติ กม.33 – หอดูสัตว์หนองผักชี  ,  เส้นทางศึกษาธรรมชาติผากล้วยไม้ – น้ำตกเหวสุวัต, เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกองแก้ว – น้ำตกเหวสุวัต และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 200 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา โดยเส้นทางที่ 1-5 และ เส้นทางที่ 7 มีการเปิดเส้นทางตลอดปีสามารถเริ่มเดินได้ตั้งแต่ 8.00-14.00 น. และเส้นทางที่ 6 จะปิดเส้นทางในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม และจะต้องเริ่มออกเดินทางไม่เกิน 10.00 น.

ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี เป็นเส้นทางเดินศึกษาป่าโกงกางที่น่าสนใจ และไม่ควรพลาดมาชม เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้างเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เดิมทีเป็นนากุ้งที่ได้รับสัมปทาน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า–คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาที่ปราณบุรี กรมป่าไม้ได้สนองพระราชดำริด้วยการยกเลิกสัมปทานนากุ้ง แล้วรวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ พัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนและกำหนด ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการปลูกป่าและพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนในเวลาต่อมา

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (marine ecotourism) คือ การท่องเที่ยว อย่างมีความรับผิดชอบในแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศทางทะเล โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวของภายใต ้ การจัดการสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพื่อมุ่งให้เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอยางยั้งยืน ซึ่งการเส้นทางศึกษาธรรมชาติโครงการปลูกป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง ก็เป็นหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้คนมีจิตสำนึกและรักษาระบบนิเวศทางทะเล ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล

ศึกษาป่าชายเลนและสัตว์น้ำทางทะเลอ่าวคุ้งกระเบน

ศึกษาป่าชายเลนและสัตว์น้ำทางทะเลอ่าวคุ้งกระเบน

เส้นทางศึกษาป่าชายเลนและสัตว์น้ำทางทะเลอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี โดยเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎรของศูนย์ฯ คุ้งกระเบน โดยได้ส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลนและรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้ เกิดประโยชน์สูงสุด  ซึ่งในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติมีพรรณไม้หลากหลายชนิด เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ โปรงแดง ป่าสักดอกแดง ป่าสักดอกขาว ลำพูทะเล แสมทะเล เป็นต้น ต้นไม้แต่ละชนิดจะมีป้ายบอกชื่อ ลักษณะ และสรรพคุณของไม้นั้นๆ ไว้ด้วย  รวมถึงเราจะได้เห็นสัตว์แห่งป่าชายเลน เช่น ปลาตีน ปูแสม วิ่งไปมา รวมถึง บรรยากาศในการเดินชมค่อนข้างร่มรื่นและเย็นสบายด้วยต้นไม้ที่ปกคลุมตลอดทาง

ศึกษาธรรมชาติเขาแหลมหญ้า

ศึกษาธรรมชาติเขาแหลมหญ้า

เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาแหลมหญ้า จังหวัดระยอง ลักษณะภูมิประเทศของเขาแหลมหญ้า เป็นแหลมที่ยื่นออกไปในทะเล มีพื้นที่โล่งกว้าง เป็นเนินทุ่งหญ้าสลับกับหิน ไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นได้เนื่องจากลมที่พัดแรงตลอดเวลา โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติแบ่งออกเป็น 9 สถานีด้วยกัน ไล่มาตั้งแต่ แนะนำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ,ชีวิตกลางวนา ,ห้องเรียนธรรมชาติ ,อุโมงค์ป่า ,มหัศจรรย์แหลมหญ้าน่าชม ,เมื่อลาวาสงบ ,ระบบนิเวศชีวิตน้ำขึ้น-น้ำลง 1 , ระบบนิเวศชีวิตน้ำขึ้น-น้ำลง 2 และสิ้นสุดที่เส้นทางอุทยานในวรรณคดี ซึ่งเส้นทางเดินจะมีทั้งทางเรียบ และมีบางช่วงเป็นเนินขึ้นลงที่ต้องลัดเลาะไปตามโขดหิน ซึ่งตลอดระยะทางกว่า 1.4 กิโลเมตร ที่มีฝั่งหนึ่งเป็นวิวทะเล อีกฝั่งก็เป็นเขาหินสีทอง เดินสามารถเดินเล่นกันแบบเพลินๆ ได้

การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา

การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา (geo-tourism) คือ การท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่เป็น หินผา ลานหินทราย อุโมงค์โพรง ถ้ำน้ำลอด  ถ้ำหินงอกหินย้อย เพื่อดูความงามของภูมิทัศน์ที่มีความแปลกของการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่โลก  ศึกษาธรรมชาติของหิน ดิน แร่ต่างๆ และฟอสซิล ได้ความรู้ได้มีประสบการณ์ใหม่ บนพื้นฐานการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ  มีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อม โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการการท่องเที่ยว ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา

สระมรกต จังหวัดกระบี่

สระมรกต จังหวัดกระบี่

สระมรกต ตั้งอยู่ใน ตำบลคลองท่อมเหนือ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ กำเนิดมาจากธารน้ำอุ่นในผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้ ซึ่งสระมรกตกำเนิดมาจากบ่อน้ำผุด มีลักษณะเป็นตาน้ำสีฟ้าอมน้ำเงิน เป็นน้ำพุร้อนมีอุณหภูมิประมาณ 30-50 องศาเซลเซียส เป็นสระน้ำแร่ธรรมชาติ ด้วยความมีแร่ธาติอยู่มาก และได้สะท้อนแสงอย่างที่เห็น ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา เป็นแอ่งน้ำตามธรรมชาติขนาดเล็ก มีฟองอากาศที่ผุดขึ้นมาเหนือน้ำตลอดเวลา สันนิษฐานว่าเกิดจากน้ำที่ซึมออกมาจากใต้ดิน ทำให้ที่แห่งนี้มีน้ำตลอดปีและไหลเป็นลำธารสู่ที่ต่างๆ เป็นสระน้ำสวยใสกลางใจป่าที่มีน้ำใส เป็นสีเขียวอมฟ้าที่เปลี่ยนสีไปได้ตามวันเวลาและสภาพแสง

สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี

สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี

สามพันโบก ตั้งอยู่กลางลำน้ำโขงในเขตพื้นที่บ้านโป่งเป้า บ้านสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแก่งหินที่โผล่ขึ้นมากลางลำน้ำโขงในช่วงที่น้ำลด โดยที่แก่งหินเหล่านี้ก็จะมีแอ่งน้อยใหญ่ ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของแรงน้ำวน เมื่อนับดูแล้วมีจำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง โดยบริเวณลำน้ำโขงจะเป็นเขตติดต่อกับประเทศลาว ตัวสามพันโบกและจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ จะอยู่ทางฝั่งไทย นักท่องเที่ยวไม่สามารถที่จะข้ามไปขึ้นฝั่งทางประเทศลาวได้ แต่สามารถยืนชมวิวฝั่งลาว รวมทั้งสามารถล่องเรือชมความสวยงามของธรรมชาติฝั่งลาวได้

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (agro tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่เกษตรกรรมสวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และเลี้ยงสัตว์เพื่อชื่นชมความสวยงาม ความสำเร็จและเพลิดเพลินในสวนเกษตร ได้ความรู้มีประสบการณ์ใหม่บนพื้นฐานความรับผิดชอบ  มีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของสถานที่แห่งนั้น และยังช่วยกระตุ้นให้รักการทำเกษตรด้วยตัวเองอีกด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางมากที่สุด

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันมีการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรมากขึ้น เช่น โครงการสาธิตการเกษตรแบบพอเพียง มีการจัดทำทางเดินบนไร่นา มีที่ถ่ายรูปสวยๆ ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาแวะชม และได้เรียนรู้รวมทั้งได้ซึมซับวิถีการเกษตรไปในตัวด้วย ถือว่าการท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับความนิยมและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อย่างดีทีเดียว
ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดําริ

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดําริ

เที่ยวชมโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดําริ จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ใน อ.ท่ายาง จ. เพชรบุรี เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน เนื้อที่ภายในโครงการมีทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด นอกเหนือจากพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็ยังมีการปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผักต่างๆ มีแปลงปลูกข้าว ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ปลูกยางพารา โดยทั้งหมดนี้จะเน้นไม่ให้มีการใช้สารเคมี หรือหากต้องใช้ก็ต้องมีในปริมาณที่น้อยที่สุด มีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวนเพื่อให้คนที่แวะมาเยี่ยมชมได้อีกด้วย

โครงการหลวงดอยอินทนนท์

โครงการหลวงดอยอินทนนท์

โครงการหลวงดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นมาโดยพระราชดำริของพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร จุดท่องเที่ยวในโครงการหลวงมีมากมายหลายจุด เช่น สวน 80 พรรษา เป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานของผู้มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว, สวนหลวงสิริภูมิ เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ภายในมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ, สวนกุหลาบพันปี, โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นต้น

การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์

 การท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (astrological tourism)  คือ การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการไปชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวาระ เช่น สุริยุปราคา ฝนดาวตก จันทรุปราคา และการดูดาวจักราศีที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน เพื่อการเรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล  มีความรู้ความประทับใจ  ความทรงจำและประสบการณ์เพิ่มขึ้น บนพื้นฐานการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการร่วมกันอย่างยั่งยืน ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม  ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 95 กิโลเมตร โดยมีสถานที่ที่จัดกิจกรรมดูดาวและถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ที่มีความเหมาะสมหลายแห่ง เช่น จุดชมวิวผาแต้ม เสาเฉลียงผาแต้ม ผาชะนะได เนื่องจากเป็นพื้นที่ลานหินโล่งกว้าง ต้นไม้เตี้ยแคระแกรนไม่บดบังทัศนียภาพ สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้ทั่วบริเวณ มีวิวทิวทัศน์หลากหลายรูปแบบ ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ไม่มีแสงสว่างรบกวน จึงมีความมืดสนิท เหมาะแก่การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เช่น วัตถุในห้วงอวกาศลึก ที่ต้องการความมืดเป็นอย่างมาก

มอหินขาว อุทยานแห่งชาติภูแลนคา

มอหินขาว อุทยานแห่งชาติภูแลนคา

มอหินขาว อุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีพื้นที่ครอบคลุม 148 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง บ้านเขว้า หนองบัวแดง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่ามีทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยที่ไหลลงสู่แม่น้ำชี มีจุดเด่นหลากหลายให้ได้ไปสัมผัสและชื่นชมธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สุดๆ ที่ปกคลุมด้วยหมอกจางๆ ปกคลุม ซึ่งที่มอหินขาว ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดกางเต็นท์นอนดูดาวที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย เพราะในยามกลางคืนที่ไร้ซึ่งแสงไฟเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้ออกมาตามหาแสงของดวงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า ท่ามกลางแสงวิบวับของทางช้างเผือกในช่วงเวลา 5 ทุ่มไปจนถึงตี 2

สนใจเช่ารถบัส ติดต่อสอบถามข้อมูล

รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม

รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม

การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (historical tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เพื่อชื่นชมและเพลิดเพลินในสถานที่ท่องเที่ยวได้ความรู้มีความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในท้องถิ่นพื้นฐานของความรับผิดชอบและมีจิตสํานึกต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและคุณค่า ของสภาพแวดลอมโดยที่ประชาชนในท้องถิ่น มีส่วนร่วมต่อการจัดการการท่องเที่ยว ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเคยเป็นอดีตราชธานีของชาติไทยที่มีอายุกว่า 417 ปี โดยได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังมีโบราณสถานที่สำคัญแห่งอื่น ๆ อีก เช่น วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดธรรมิกราช เป็นต้น

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่เมืองโบราณกำแพงเพชร ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยแบ่งออก เป็น ๒ เขต คือ เขตภาย ในกำแพงเมืองมีพื้นที่ ๕๐๓ ไร่ และเขตนอกกำแพงเมืองหรือที่เรียกกันว่า เขตอรัญญิก ตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม มีพื้นที่ ๑,๖๑๑ ไร่ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นศาสนสถานเป็นส่วนมากได้รับการ ประกาศให้เป็น “มรดกโลก” ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534

การท่องเที่ยวงานชมวัฒนธรรมและประเพณี

การท่องเที่ยวงานชมวัฒนธรรมและประเพณี (cultural and traditional tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยว  เพื่อชมงานประเพณีต่างๆ ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ  จัดขึ้น ได้รับความเพลิดเพลินตื่นตาตื่นใจในสุนทรียะศิลป์เพื่อศึกษาความเชื่อ การยอมรับนับถือ   การเคารพพิธีกรรมต่างๆ และได้รับความรู้มีความเข้าใจต่อสภาพสังคมและวัฒนธรรม   มีประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและมีจิตสํานึกต่อการรักษาสภาพแวดลอมและมรดกทางวัฒนธรรม  โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมตอการจัดการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น การเที่ยวชมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาในจังหวัดอุบลราชธานี,ประเพณีงานลอยกระทงที่จังหวัดสุโขทัย,ประเพณีสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่,ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม,ประเพณีวันสารทเดือนสิบ นครศรีธรรมราช เป็นต้น

การท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชนบท

การท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตในชนบท (rural tourism / village tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ชนบทที่มีลักษณะวิถีชีวิต และผลงานสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์พิเศษมีความโดดเด่นเพื่อความเพลิดเพลินได้ความรู้ดูผลงานสร้างสรรค์และภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีความเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและคุณค่าของสภาพแวดล้อม โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น การเที่ยวหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆทางเหนือของไทย, การเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชนชาวภูไท ในจังหวัดนครพนม เป็นต้น

รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ

รูปแบบการท่องเที่ยวในความสนใจพิเศษ

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (health tourism) คือ การท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติและแหล่งวัฒนธรรมเพื่อการพักผ่อนและเรียนรู้วิธีการรักษาสุขภาพกายใจได้รับความเพลิดเพลิน และสุนทรียภาพ มีความรู้ต่อการรักษาคุณค่า และคุณภาพชีวิตที่ดี มีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน อนึ่ง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนี้บางแห่งอาจจัดรูปแบบเป็นการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและความงาม (health beauty and spa) ยกตัวอย่างเช่น เที่ยวบ่อน้ำพุร้อน เพื่อบำบัดร่างกาย,การเที่ยวทะเล นอนอาบแดด นวดตัว ทำสปา,การเที่ยวชมป่า เพื่อรับอากาศอันบริสุทธิ์ ก็เป็นการพักผ่อนเพื่อรักษาสุขภาพกายและใจด้วยเช่นกัน

การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษาและศาสนา

การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษาและศาสนา (edu-meditation tourism) คือ การเดินทางเพื่อทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากปรัชญาทางศาสนา หาความรู้ สัจธรรมแห่งชีวิตมีการฝึกทำสมาธิเพื่อมีประสบการณ์และความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น มีคุณค่าและคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวบางกลุ่มมุ่งการเรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย เช่น  การทําอาหารไทยการนวดแผนไทย รําไทย มวยไทย การช่างและงานศิลปหัตถกรรมไทย   รวมถึงการบังคับช้างและเป็นควาญช้าง  เป็นต้น

การท่องเที่ยวเพื่อศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมกลุ่มน้อย

การท่องเที่ยวเพื่อศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรมกลุ่มน้อย (ethnic tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรมของชาวบ้าน วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยหรือชนเผาต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านชาวไทยโซ่ง หมู่บ้านผู้ไทย  หมู่บ้านชาวกูย หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง  หมู่บ้านชาวจีนฮ่อ เป็นต้น เพื่อมีประสบการณ์และความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมีคุณคาและคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดลอมและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ทำไมต้องทำกิจกรรม CSR ทำแล้วได้อะไร

การท่องเที่ยวเชิงกีฬา

การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (sports tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเล่นกีฬาตามความถนัดความสนใจ ในประเภทกีฬา เช่น กอล์ฟ ดําน้ำ ตกปลา สนุกเกอร์  กระดานโตคลื่น สกีนํ้า เป็นต้น ให้ได้รับความเพลิดเพลินความสนุกสนานตื่นเต้น ได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น มีคุณค่าและคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น มีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดลอมและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

การท่องเที่ยวเชิงกีฬากำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้  ได้แบ่งเป็นประเภทดังนี้ อ่านต่อคลิก…

การท่องเที่ยวแบบผจญภัย

การท่องเที่ยวแบบผจญภัย (adventure travel) คือ การเดินทางท่อง เที่ยวไปยงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ ที่นักท่องเที่ยวเขาไปเที่ยวแล้วได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น หวาดเสียว ผจญภัย มีความทรงจํา  ความปลอดภัย และได้ประสบการณ์ใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การปีนหน้าผา, การเดินป่า, การล่องแก่งไปตามลำแม่น้ำ, การเดินชมถ้ำหินงอกหินย้อย, การลอดถ้ำต่างๆ เป็นต้น

การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์และฟาร์มสเตย์

การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์และฟาร์มสเตย์ (home stay & farm stay) คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ต้องการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับครอบครัวในท้องถิ่นที่ไปเยือนเพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้รับประสบการณ์ในชีวิตเพิ่มขึ้น โดยมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดลอมและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นที่ยั่งยืน
ตัวอย่างการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และ ฟาร์มสเตย์ 

บ้านไร่ไออรุณ จ.ระนอง

บ้านไร่ไออรุณ

เป็นที่พักที่ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่เต็มไปด้วยความสวยงามทางธรรมชาติ บวกกับไอเดียการตกแต่งพื้นที่ของเจ้าของ ทำให้ที่นี่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ภายในฟาร์มสเตย์แห่งนี้ถูกออกแบบไว้ 2 โซนหลักๆ คือ พื้นที่ส่วนกลางที่จัดเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับวิถีธรรมชาติ เรียนรู้ความเรียบง่ายของชีวิต รวมถึงยังมีบ้านไม้ 3 ชั้นสำหรับเป็นจุดต้อนรับ และรับประทานอาหารพื้นเมืองฝีมือของ ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ รวมไปถึงร้านขายสินค้า เกษตร สินค้าทำมือที่รวบรวมไว้เป็นของที่ระลึกอีกด้วย

บ้านทะเลดาว โฮมสเตย์

บ้านทะเลดาว โฮมสเตย์

ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน หรือบ้านปากแม่น้ำเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นชุมชนริมทะเลที่มีอายุยาวนานกว่าร้อยปี ใครอยากสัมผัสสูดอากาศบริสุทธิ์ บรรยากาศริมทะเลท่ามกลางวิถีชีวิตชาวประมงต้องมาที่นี่หมู่บ้านไร้แผ่นดิน กิจกรรมไฮไลท์ของบ้านทะเลดาวที่ใครมาต้องห้ามพลาด ได้แก่กิจกรรมตกปลา พายคายัค ไหว้พระวัดบางชัน เที่ยวชมทะเลแหวก นั่งเรือชมฝูงเหยี่ยวแดงนับพันตัวกลางทะเล ชมธรรมชาติป่าชายเลน เที่ยวชมหมู่บ้านชาวประมงเก่าแก่ เป็นต้น

แนะนำ 6 ที่พักแบบฟาร์มสเตย์ สัมผัสวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ อ่านต่อ…

การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว

การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (longstay) คือ กลุ่มผู้ใช้ชีวิตในบั้นปลายหลังเกษียณอายุจากการทำงานที่ต้องการมาใช้ชีวิตต่างแดนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มปัจจัยที่ห้าของชีวิตคือ การท่องเที่ยว โดยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเฉลี่ย 3 – 4  ครั้งต่อปี คราวละนาน ๆ อย่างน้อย  1 เดือน

การท่องเที่ยวแบบให้รางวัล

 การท่องเที่ยวแบบให้รางวัล (incentive travel) คือ การจัดนำเที่ยวให้แก่กลุ่มลูกค้าของบริษัทที่ประสบความสำเร็จ  (มีความเป็นเลิศ) ในการขายสินค้านั้นๆ ตามเป้าหมายหรือเกินเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้แทนบริษัทจำหน่ายรถยนต์   ผู้แทนบริษัทจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้แทนบริษัทจาหน่ายเครื่องสำอาง  จากภูมิภาคหรือจังหวัดต่างๆ ที่สามารถขายสินค้าประเภทนั้นได้มากตามที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายในประเทศตั้งเป้าหมายไว้เป็นการให้รางวัลและจัดนำเที่ยว โดยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าพักแรมและค่าอาหารระหว่างการเดินทางให้กับผู้ร่วมเดินทาง เป็นการจัดรายการพักแรมตั้งแต่  2 – 7  วัน เป็นรายการนำเที่ยวชมสถานท่องที่ต่างๆ อาจเป็นรายการนำเที่ยวแบบผสมผสาน หรือรายการนำเที่ยวในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

การท่องเที่ยวเพื่อการประชุม

 การท่องเที่ยวเพื่อการประชุม (MICE หมายถึง M=meeting/I= incentive/ C=conference / E=exhibition) เป็นการจัดนำเที่ยวให้แก่กลุ่มลูกค้าของผู้ที่จัดประชุม มีรายการจัดนำเที่ยวก่อนการประชุม (pre-tour) และการจัดรายการนำเที่ยวหลังการประชุม (post-tour)  โดยการจัดรายการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ไปทั่วประเทศ  เพื่อบริการให้กับผู้เข้าร่วมประชุมโดยตรง หรือสำหรับผู้ที่ร่วมเดินทางกับผู้ประชุม  (สามีหรือภรรยา) อาจเป็นรายการท่องเที่ยววันเดียว หรือรายการเที่ยวพักค้างแรม 2 – 4 วัน โดยคิดราคาแบบเหมารวมค่าอาหารและบริการท่องเที่ยว

มารู้จักกับ ‘ธุรกิจไมซ์ (MICE)’ ทำไมถึงมีความสำคัญ 

การท่องเที่ยวแบบผสมผสาน

การท่องเที่ยวแบบผสมผสาน เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้จัดการการท่อง เที่ยวคัดสรรรูปแบบการท่องเที่ยวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นำมาจัดรายการนำเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความแตกต่างระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในระยะยาวนานตั้งแต่  2 – 7 วันหรือมากกว่านั้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเกษตร (eco–agro-tourism) การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและประวัติศาสตร์ (agro-historical tourism)  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย (eco-adventure travel)  การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาและประวัติศาสตร์ (geo-historical tourism) การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม  (agro-cultural tourism) เป็นต้น

นอกจากนี้ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวได้พิจารณาจากความต้องการหรือพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมทําให้มีรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีแนวคิดใหม่ ขึ้นมาเช่น Green tourism ที่คนมาท่องเที่ยวจะต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือช่วยลดภาวะโลกร้อน เช่น  การท่องเที่ยวในเกาะสมุย หรือ War tourism  ที่นักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสกับอดีตในสมัยสงคราม  เช่น  การท่องเที่ยวสะพานข้ามแม่นํ้าแคว จังหวัดกาญจนบุรีหรือ Volunteer tourism  ที่นักท่องเที่ยวเป็นอาสาสมัครมาช่วยทำกิจกรรมบําเพ็ญประโยชน์ ในสถานที่และเดินทางท่องเที่ยวต่อ เช่น การที่มีอาสาสมัครมาช่วยงานสึนามิในประเทศไทย เป็นต้น

สรุปรูปแบบการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวในประเทศไทย มีหลากหลายขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเอง และขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม  ผลของการท่องเที่ยวจะเกิดมิติในแง่บวกหรือลบ ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวว่ามีพฤติกรรมอย่างไร

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท แดช เอ็มวี จำกัด 

  • ที่อยู่: 39  หมู่ 14 ถนนบางนา-ตราด บางแก้ว บางพลี สมุทรปราการ 10540
  • เบอร์โทร: 092 185 6699
  • Line:  @dashmv
DASH MV
บริการเช่ารถบัส รถโค้ช ขนาด 39-45 ที่นั่ง รถที่ให้บริการเป็นรถที่นำเข้าจากต่างประเทศและเป็นรถใหม่ทุกคัน มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลและมีระบบความปลอดภัยสูง เพราะเราใส่ใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของลูกค้าเป็นหลัก
บริษัทเช่ารถบัส
บริการเช่ารถบัส

สำหรับผู้ที่สนใจ

ทางเรามีบริการให้เช่ารถบัส
ทั้งแบบรายวัน และรายเดือน

หมวดหมู่บทความ